Blog

“AIS” ผู้นำด้านนวัตกรรมในวงการโทรคมนาคม กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น

AIS ถือเป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่ให้บริการคนไทยมากกว่า 3 ทศวรรษ และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในวงการโทรคมนาคมของไทยที่คว้า 2 รางวัลใหญ่อันทรงเกียรติระดับชาติและระดับโลกมาแล้ว ทั้ง “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2563” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA และ “รางวัล Thailand MIKE Award ประจำปี 2020 ด้านการจัดการนวัตกรรมและความรู้ (ระดับโกลด์)” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ AIS ในการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมในองค์กรและการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม วันนี้ Innovation Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ หัวหน้าส่วนงานการจัดการความรู้ด้านเทคนิค บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในการนำนวัตกรรมเข้ามาสร้างคุณค่าทั้งในเชิงพาณิชย์ และการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรและสังคมไปพร้อมกัน จนทำให้สามารถก้าวสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมชั้นนำของประเทศได้ ไปติดตามกัน...

แนวทางสร้างสรรค์นวัตกรรมสไตล์ AIS

AIS ยึดแนวทาง “นวัตกรรมแบบเปิด” หรือ Open Innovation คือไม่ทำคนเดียว โดยเรามีการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกา ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ผ่านโครงการมากมาย เช่น ACADEMY FOR THAIs by AIS Academy, AIS PLAYGROUND UNIVERSITY, AIS IoT Alliance Program (AIAP), AIS Young Digital Talent (AYDT) ฯลฯ เพื่อนำความถนัด ความแข็งแรงที่แตกต่างกันของแต่ละคนมาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า และภายในองค์กรของเราเองก็มีการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ มีการวางแผนบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กรให้พร้อมรับกระแสดิสรัปชั่นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการจัดตั้งทีม Novel Engine Execution Team (NEXT) ที่จะคอยกระตุ้นให้พนักงานมีรากฐานความคิดแบบ “นวัตกร” และมีส่วนร่วมในการนำความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรม นอกจากนี้ เรายังมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้พนักงานของเรามีส่วนร่วมในการสร้าง หรือเป็นเจ้าของนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนออกมาจากทุกภาคส่วนภายในองค์กรได้อย่างแท้จริง

นวัตกรรม AIS ที่ช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

เรามีโครงการ Forest Fire Detection ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่าง AIS และมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นการพัฒนาการใช้อุปกรณ์ตรวจจับไฟป่าด้วย IoT และดาวเทียม ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากไฟป่าในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้เริ่มต้นในตั้งแต่ปี 2019 และปัจจุบันอยู่ในช่วงการขยายผลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลและตรวจจับแจ้งเตือนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปแก้ปัญหาให้แก่สังคมได้จริง ผ่านโครงการ JUMP Thailand 2021 เป็นการแข่งขันระดมสมองในรูปแบบ แฮกกาธอน (Hackathon) ที่ชวนคนไทยมาร่วมแรงคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย พลังพันธมิตรไทยร่วมสร้าง “ย่านนวัตกรรม”

AIS การเข้าร่วมเป็น Innovation Thailand Alliance : InTA ถือว่าสอดคล้องกับแนวทาง Open Innovation ของเราที่มุ่งเน้นในการเปิดรับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการช่วยกันนำองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดและแบ่งปันกัน ร่วมสร้างพลังพันธมิตรไทยที่ช่วยกันสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมไทยที่ก่อประโยชน์แก่ประเทศ นอกจากนี้ AIS เห็นความสำคัญของเครือข่ายความร่วมมือ เราจึงร่วมกับ NIA และพันธมิตรในย่านอารีย์-พหลโยธิน-สะพานควายอีกกว่า 20 องค์กร ริเริ่มโครงการ ARI Innovation District เพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านอารีย์ให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เอื้อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “อารีย์ 2025 ก้าวสู่เมืองฉลาดรู้ ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุคใหม่” โดยทาง NIA เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ย่านอารีย์ที่มีการกระจุกตัวของบริษัทชั้นนำที่มีทรัพยากรด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนาเครื่องจักรกลขั้นสูง (Robotics) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Immersive) และการเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (IoTs) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงถือเป็นย่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่จะพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศน์ของนวัตกรรมในย่านอารีย์ได้ต่อไป

การสนับสนุนจาก AIS ในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย

สิ่งที่เราจะร่วมพัฒนาสังคมและประเทศไทยให้เดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน และผลักดันประเทศไทยสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม ก็จะเป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ได้แก่

  1. Open Corpus เพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำ Corpus หรือข้อมูลเสียงนำไปต่อยอดการพัฒนา AI ได้
  2. API ต่างๆ สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชัน
  3. 5G เทคโนโลยี
  4. ระบบ Cloud เพื่อการทดสอบทดลอง
  5. โปรแกรมการเสริมสร้างองค์ความรู้ ในการสร้างนวัตกรรม
  6. การเชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในการสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ

นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งขององค์กรนวัตกรรมชั้นนำในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่จะร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติในหลากหลายรูปแบบ และที่สำคัญจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เกิดการรับรู้และยอมรับในฐานะประเทศแห่งนวัตกรรมได้ต่อไป